ปลาหมอทะเล
ปลาหมอทะเล (อังกฤษ: Giant grouper, Queensland grouper) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Epinephelus lanceolatus ในวงศ์ปลากะรัง (Serranidae) มีลักษณะโดยทั่วไปคล้ายคลึงกับปลาชนิดอื่นที่อยู่ในวงศ์เดียวกัน มีหัวค่อนข้างโต ปากกว้าง ตาเล็ก ครีบหลังมีก้านครีบแข็งอยู่ตอนหน้าตามด้วยก้านครีบแข็งและต่อด้วยครีบอ่อนเช่นเดียวกัน ครีบหางค่อนข้างใหญ่เป็นรูปกลมมน ลำตัวสีเทาอมดำ เมื่อยังเล็กอยู่ ตามลำตัวมีลายสีเหลืองสลับ โดยเฉพาะบริเวณครีบต่างๆ
เป็นปลากินเนื้อ มีพฤติกรรมกินอาหารโดยการฮุบกลืนเข้าไปทั้งตัว อาจจะกินปลาฉลามขนาดเล็กหรือเต่าทะเลวัยอ่อนได้ ฟันในปากมีขนาดเล็ก เป็นปลาที่สายตาไม่ดี ออกหากินในเวลากลางคืน แม้จะเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่แต่มีนิสัยไม่ดุร้าย เวลาขู่จะแสดงออกด้วยการพองครีบพองเหงือกคล้ายปลากัด ในธรรมชาติมักอาศัยอยู่ตามซากโป๊ะ หรือกองหินใต้น้ำ โดยว่ายน้ำไปมาอย่างเชื่องช้า หรือลอยตัวอยู่นิ่ง ๆ พบในระดับความลึกตั้งแต่ 4–100 เมตร และยังชอบที่จะขุดหลุมคล้ายปลานิล พื้นหลุมแข็งบริเวณข้างหลุมเป็นเลนค่อนข้างหนา ปากหลุมกว้างประมาณ 50–100 เซนติเมตร
ถิ่นที่อยู่อาศัย: พบอาศัยอยู่ในทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่นในแถบอินโด-แปซิฟิก, ออสเตรเลียทางตอนเหนือ จนถึงอ่าวเปอร์เซียนิยมบริโภคด้วยการปรุงสดเหมือนปลาในวงศ์นี้ชนิดอื่น ๆ
เป็นปลาที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และด้วยความใหญ่โตของร่างกาย ปลาหมอทะเลจึงมักนิยมเลี้ยงในตู้ขนาดใหญ่หรือในอุโมงค์ของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ทางทะเล ภายในมหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี เป็นต้น และนิยมเลี้ยงลูกปลาขนาดเล็กในน้ำจืดเหมือนปลาสวยงามทั่วไปด้วย แต่ทว่าก็จะเลี้ยงได้เพียงระยะหนึ่งเท่านั้น เมื่อโตขึ้น หากยังเลี้ยงในน้ำจืดอยู่ ปลาก็จะตายในที่สุด
นอกจากนี้แล้ว ทางกรมประมงยังได้เพาะขยายพันธุ์ลูกผสมระหว่างปลาหมอทะเลกับปลากะรังดอกแดง ซึ่งเป็นปลาในวงศ์เดียวกัน ได้เป็นผลสำเร็จ โดยลูกปลาขนาดเล็กจะมีลวดลายคล้ายกับปลาเสือตอ ซึ่งเป็นปลาสวยงามน้ำจืดที่มีชื่อเสียง ที่อยู่ต่างวงศ์กัน จนได้รับการเรียกชื่อว่า "ปลาเสือตอทะเล"
ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น